หน้าเว็บ

บั้งไฟพญานาคโลก (World Nagha FireBall Festival)

บั้งไฟพญานาค 2554
                                    
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันน่าทึ่ง ที่สุดในช่วงวันออกพรรษา


        ใกล้จะมาถึงแล้วนะครับสำหรับประเพณีออกพรรษา ปีนี้เมืองอุบลราชธานีก็ได้มีการจัดงานออกพรรษาอย่างยิ่งใหญ่เช่นที่เคยมีมาแต่ก่อน  สำหรับประเพณีออกพรรษาทุกท่านก็คงมักจะนึกถึง ปรากฏการณ์ดวงไฟลูกไฟสีแดงอมชมพู พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ไม่มีเสียง ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น ซึ่งจะปรากฏการณ์เพียงปีละครั้ง เท่านั้น ปีนี้(2554) ทางจังหวัดหนองคายจัดใหญ่ให้เป็นระดับโลก โดยใช้ชื่องานว่า " บั้งไฟพญานาคโลก "

มหัศจรรย์บั้งไฟพญานาค ที่บ้านตามุย อ.โขงเจียม

          เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของฝั่งประเทศไทย และตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทางฝั่งลาว (วันออกพรรษาของลาว) นายเหลาคำ  ขยันการ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่รอบแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ระยะห่างจากหน้าผาของผาแต้ม ไปประมาณ 4 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออก ได้ให้สัมภาษณ์กับ นายศุภสัณห์  วันทาสุข นักวิชาการเผยแพร่ และนายภานุมาศ  อ่อนคำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลป์ของอุทยานแห่งชาติผาแต้มว่า
          เมื่อเวลาประมาณ 19.35 นาฬิกา ของคืนวันที่ดังกล่าว ชาวบ้านในหมุ่บ้านของตน ประมาณ 50 คน ได้พบเห็นลูกไฟสีแดงอมชมพู ขนาดเท่าไข่ไก่ ลอยพุ่งขึ้นจากผิวน้ำสู่อากาศเหนือลำน้ำโขง ระยะสูงจากผิวน้ำโดยประมาณ 20-30 เมตร จำนวน 6 ลูก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบั้งไฟพญานาค ที่พบเห็นบริเวณลำน้ำโขงของจังหวัดหนองคาย ปรากฏขึ้นบริเวณลำน้ำโขงติดกับชายหาดวิจิตรา ที่เป็นร่องน้ำลึก ซึ่งสถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม โดยชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวนี้ว่า "ถ้ำฟ้าผ่า" เพราะเนื่องมาจากในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำโขงลดลงมาก จนทำให้สามารถพบเห็น "ถ้ำ" ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ใต้ท้องน้ำ โผล่ขึ้นมาอยู่เหนือลำน้ำโขง
          ลักษณะของตัวถ้ำตอนบนเป็นแผ่นหินนั้นแตกหักปกคลุมอยู่เหนือลำน้ำโขง ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในอดีต ซึ่งช่วงเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ลูกไฟดังกล่าวนี้ ชาวบ้านพบเห็นได้แต่ละลูกห่างกันประมาณ 3-4 นาที โดย 2 ลูกแรกนั้น ทิ้งระยะเวลาห่างกันประมาณ 1 นาที ตำแหน่งของการเกิดลูกไฟ มีระยะห่างกันประมาณ 2-3 เมตร
          นอกจากนี้ ชาวบ้านตามุย และชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ชาวบ้านได้พบเห็นมาเป็นเวลาติดต่อกันมานานหลายปีแล้ว แต่ก็มีคนพบเห็นกันไม่มากนัก เนื่องจากคนที่พบเห็นนั้น ก็มักจะพบเห็นกันโดยบังเอิญ และมักพบเห็นเฉพาะในช่วงคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี และในปีที่ผ่านมา ชาวบ้านบางส่วนก็ได้ไปเฝ้าดู ปรากฏการณ์นี้จริงๆ จังๆ ที่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ก็สามารถเห็นได้เช่นเดียวกัน ประมาณ 3 ลูก โดยปีก่อนหน้านั้น ก็สามารถพบเห็นในบริเวณเดียวกันมากกว่า 10 ลูกด้วยกัน ในปีนี้ชาวบ้านในหมุ่บ้าน มาเฝ้ารอดูปรากฏการณ์นี้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

         แผนที่เส้นทางชมปรากฏการณ์
บั้งไฟพญานาค
บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบล

          นอกจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังกล่าวอีกว่า ในระยะเวลาห่างกัน 2-3 ปี มักจะพบเห็นร่องรอยประหลาดขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายรอยไถที่ใช้ทำการเกษตร (คล้ายกับรอยเหวี่ยงก้นถังที่มีลักษณะเป็นทรงกลม) ยาวประมาณ 400-500 เมตร ต่อเนื่องกันไปตามบริเวณหาดทราย และบริเวณโคลนตมริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยร่องรอยดังกล่าวนี้ ส่วนที่ปรากฏให้เห็นบนโคลนตมมักมีขนาดกว้างประมาณ 45-50 ซม. ลึกประมาณ 10-15 ซม. และบางช่วงก็ลึกประมาณ 1 เมตร แต่ละส่วนที่ปรากฏบนหาดทรายมักมีขนาดกว้าง 15-20 เมตร และค่อยๆ แคบลง และจางหายไป
          การพบเห็นรอยประหลาดนี้ มักพบเริ่มต้นจากบริเวณกลางหาดทราย และค่อยๆ จางหายไป ก่อนถึงบริเวณริมฝั่งน้ำประมาณ 3-4 เมตร โดยข้างๆ รอยดังกล่าวนี้ ยังไม่สามารถพบรอยของสัตว์อื่น แม้กระทั่งรอยของมนุษย์ และข้างๆ รอยประหลาดนี้ ยังมีลักษณะเป็นรอยขุดลงไปในพื้นดินที่หาดทราย ลึกประมาณ 5-10 ซม. ทิ้งช่วงห่างกันให้เป็นระยะ โดยแต่ละช่วงก็ห่างกันแต่ไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้ไม่สามารถระบุระยะทางชัดเจนได้ นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏร่องรอยของเล็บหรือนิ้วเท้าของร่องรอยประหลาดนี้แต่อย่างใด
          นายอุทัย  ศรีดอน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่บ้านตามุย  อายุ 60 ปี พร้อมกับชาวบ้านในหมู่บ้าน ได้พบเห็นลำแสงประหลาดมีช่วงยาวประมาณ 20 เมตร ปรากฏอยู่ใต้ลำน้ำโขง ใกล้กับริมตลิ่งของหมู่บ้าน และตนได้ลองทอดแหดู แต่ไม่มีอะไรติดขึ้นมา ข่าวการพบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ได้ถูกเปิดเผย เมื่อมีเด็กนักเรียนในโครงการนักเรียนช่วยงานอุทยานแห่งชาติเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนในช่วงวันหยุด มีการบอกเล่ากันทั่วไป
          จากนั้นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม นายศักดิ์สิทธิ์  พลทรัพย์ศิริ จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น ออกไปติดตามข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวได้ทราบโดยทั่วกัน
          อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ขอเชิญร่วมชมปรากฏการณ์ความมหัศจรรย์บั้งไฟพญานาคที่ลานชายหาดบ้านตามุย ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ของทุกปี

แก่งสะพือ สุดยอดสถานที่ท่องเที่ยว


   สถานที่น่าเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี แก่งสะพือ Kangsaphue สุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ แก่งสะพือ เป็นแก่งหินที่สวยงามในแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ตามทางหลวงหมายเลข 217 ประมาณ 45 กิโลเมตร คำว่า “สะพือ” เพี้ยนมาจากคำว่า “ซำพืด” หรือ “ซำปึ้ด” ซึ่งเป็นภาษาส่วยแปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือม เป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน เกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา ช่วงที่เหมาะสำหรับเที่ยวชมแก่งสะพือ คือ หน้าแล้ง ราวเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เพราะน้ำจะลดเห็นแก่งหินชัดเจนสวยงาม   ส่วนหน้าฝนน้ำจะท่วมมองไม่เห็นแก่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมแก่งนี้ 2ครั้ง ริมฝั่งแม่น้ำมีศาลาพักร้อน และร้านขายสินค้าพื้นเมือง ในวันหยุดมีประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และประเพณีอันดีงามด้วย

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ


ข้อมูลทั่วไป 
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สภาพ พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ โดยมียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะความเป็นมา: ด้วยกรมป่าไม้ มีหนังสือที่ กส 0706/2967 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2517 เรื่องการเลือกพื้นที่เพื่อจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ให้ป่าไม้เขตทุกเขตดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ในท้องที่แต่ละเขต ว่ามีบริเวณใดบ้างเหมาะสมที่จะจัดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจของจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือ ที่ อบ 09/24531 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2517 ถึงป่าไม้เขตอุบลราชธานี เห็นว่าป่าดงหินกอง ท้องที่ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม มีสภาพพื้นที่เหมาะสมเพื่อจัดเป็นอุทยานแห่งชาติ 

สำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานีจึงมีหนังสือที่ กส 0809 (อบ)/1799 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2518 รายงานให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจพบว่า ป่าดงหินกองมีสภาพป่าสมบูรณ์ และมีธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง แต่เป็นป่าโครงการเพื่อการใช้สอยเอนกประสงค์ของราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี และป่าไม้เขตอุบลราชธานี จึงเห็นควรกำหนดพื้นที่ป่าดงหินกองเฉพาะบางส่วนบริเวณรอบๆ แก่งตะนะ และน้ำตกตาดโตน เนื้อที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นวนอุทยาน 

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 710/2521 ลงวันที่ 25 เมษายน 2521 ให้นายนพพร แสงสีดา นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จากรายงานการสำรวจตามหนังสือสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี ที่ กส 0809/(อบ.)/2730 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2521 ป่าดงหินกองเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำมูล มีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ในชั้นต้นกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 2428/2522 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2522 ให้นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานป่าดงหินกอง

ต่อมาวนอุทยานดงหินกองได้มีหนังสือที่ กส 0708(ดก)/11 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2523 ว่า ได้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าดงหินกองโดยรอบพบว่า มีสภาพป่าสมบูรณ์ดีมาก มีธรรมชาติและทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมเหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับป่าโครงการเพื่อการใช้สอยแบบเอนกประสงค์ป่าดงหินกองถูกประกาศให้เป็นป่าปิด ห้ามการทำไม้ทุกชนิด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 

น้ำตกรากไทรกรมป่าไม้จึงเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดงหินกอง ในท้องที่ตำบลโขงเจียม และตำบลเขื่อนแก่ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 908 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ” ซึ่งเป็นชื่อตามธรรมชาติของลักษณะภูมิประเทศซึ่งเป็นจุดเด่นใหญ่ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันดี นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 33 ของประเทศ

คำว่า “ตะนะ” จากการเล่าขานตามความเชื่อของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เดิมมาจากคำว่า “มรณะ” เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า “แก่งมรณะ” ตามแรงบันดาลจากสภาพของสายน้ำที่ไหลผ่านแก่งนี้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “แก่งตะนะ”
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะลักษณะภูมิประเทศ 
สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบ เป็นเขาเตี้ยๆ มีแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง ไหลผ่าน ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาบรรทัด สูงประมาณ 543 เมตร สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง จะมีป่าดิบเฉพาะบริเวณริมห้วยใหญ่เท่านั้น สภาพพื้นที่ส่วนมากเป็นหินทรายและพื้นที่ศิลา ส่วนดินเป็นดินลูกรัง ดินบรบือ และดินตะกอน