หน้าเว็บ

ไหว้ 3 พระธาตุ เมืองอุบลฯ เสริมศิริมงคล


    จังหวัดอุบลราชธานี มีพระธาตุที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดี คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ อยู่ที่วัดพระธาตุหนองบัว ในระยะต่อมา ก็ได้รู้จักพระธาตุเก่าแก่อีกองค์หนึ่ง คือพระธาตุสวนตาล วัดธาตุสวนตาล  สุดท้ายเมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสไปร่วมพิธีบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุเก่าแก่อีกองค์หนึ่ง ที่บ้านธาตุ อ.วารินชำราบ เรียกว่า เจ้าพระมหาธาตุจึงรู้สึกอัศจรรย์ใจ อยากเชิญชวนทุกท่านไปกราบพระธาตุทั้ง 3 องค์นี้ด้วยกันครับ


      เราไปเริ่มต้นที่พระธาตุอง์ล่าสุดที่เพิ่งจะได้ทำพิธีบูรณะปฏิสังขรณ์ไปนะครับ เรียกว่า เจ้าพระมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ จากตัวเมืองอุบลฯ ใช้เส้นทางไป ม.อุบล เมื่อถึงสี่แยกถนนเลี่ยงเมือง มีปั้มน้ำมัน ปตท.อยู่ด้านซ้าย ผ่านสี่แยกขึ้นไป จะเห็นตลาดวารินเจริญศรีอยู่ทางขวามือ ผ่านจุดกลับรถขึ้นไปจุดที่สอง ด้านขวามือมือทางเข้าบ้านธาตุครับ เข้าไปตามทางบ้านธาตุประมาณ 400 เมตร ก็ถึงองค์พระธาตุแล้วครับ
               ลักษณะ "เจ้าเจดีย์มหาธาตุ" เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอดิน มีรูปทรงดังนี้  ส่วนล่างสุด เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย  ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรียกว่า "เรือนธาตุ"  ก่อเป็นทรงบัวเหลี่ยมเรียวคอดขึ้นไปหาปลายยอด  เป็นลักษณะที่เรียกกันว่า "กลุ่มธาตุฐานต่ำ" ที่มีอิทธิพลองศิลปกรรมล้านช้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 เหมือนเช่น พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  และพระธาตุวัดพระพุทธบาทบัวบาน บ้านเมืองพาน อ.บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
               เจ้าพระมหาธาตุ เป็นพระธาตุที่มีรูปทรงแบบเดียวกันกับพระธาตุพนม เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านในชุมชนบ้านธาตุและชุมชนใกล้เคียง ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา มีเรื่องเล่า ตำนานและปาฏิหาริย์เกี่ยวกับองค์เจ้าพระมหาธาตุมากมาย ตลอดจนมีประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนที่แสดงออกถึงความผูกพันต่อองค์พระธาตุ อาทิ การทำบุญใหญ่ในวันสงกรานต์ ซึ่งถือเอาวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันรวมตัวกันจัดงานบุญของคนชุมชนบ้านธาตุ โดยมีการแต่งธง ประดับริ้วกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ มีการสวดมนต์ของพระสงฆ์วัดบ้านธาตุ พิธีสรงน้ำองค์พระธาตุ สรงน้ำพระสงฆ์ และพิธีรดน้ำดำหัว ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงส่วนใหญ่ต่างมีความผูกพันทางจิตใจต่อองค์พระธาตุมาก เนื่องจากทุกคนเกิดมาก็เห็นองค์พระธาตุประดิษฐานอยู่ และความมีอยู่ขององค์พระธาตุได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชุมชนบ้านธาตุ
               องค์เจ้าพระมหาธาตุนี้ เคยได้รับการบูรณะและดูแลจากชาวบ้านอย่างสำคัญ 2 ครั้ง คือ การโบกปูนทับกับรูปทรงเดิมขององค์พระธาตุ ที่แต่เดิมมีลักษณะเป็นอิฐแดง ในปี พ.ศ. 2515 โดยเป็นปีเดียวกับการสร้างโบสถ์ของวัดบ้านธาตุ ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถมองเห็นโครงสร้างเดิมได้แล้ว จากนั้นได้มีการสร้างกำแพงล้อมรอบองค์พระธาตุในปี พ.ศ. 2535 จากเงินกองกฐินที่นำมาถวายวัดบ้านธาตุ รวมถึงการร่วมกันบริจาคเงินด้วยความศรัทธาของคนภายในชุมชนบ้านธาตุ


               เดินทางไปตามถนนสายเลี่ยงเมืองเพื่อไปไหว้พระธาตุองค์ที่สองครับ เริ่มจากสี่แยกถนนสายเลี่ยงเมืองที่เมื่อสักครู่เพิ่งจะผ่านมา คือสี่แยกตลาดวารินเจริญศรี หรือสี่แยก ปตท.คุ้มไท เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลี่ยงเมือง ตรงไปเรื่อยๆ ข้ามสะพานตรงหาดคูเดื่อ ตรงไปอีก จนถึงสี่แยกไปยโสธรครับ ให้เลี้ยวซ้าย ใช้ถนนแจ้งสนิท ทางไปยโสธร ตรงไปเรื่อยๆ เลยทางเข้าบ้านปะอาว ก็จะถึงสามแยกทางเข้าบ้านชีทวน ตรงเข้าไปบ้านชีทวนครับ ที่บ้านชีทวนนี้ จะมีวัดสำคัญอยู่  3 แห่ง คือ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์  มีธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก  วัดทุ่งศรีวิไล ไหว้พระพุทธวิเศษ และวัดธาตุสวนตาลที่เราจะไปกราบพระธาตุสวนตาลกันครับ

        วัดธาตุสวนตาล เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของบ้านชีทวน ตำบลชีทวน ก่อสร้างเมือใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีดบราณสถาน โบราณวัตถุหลายอย่างที่อยู่ในวัดนี้ อาทิ พระธรรมเทโว พระธาตุสวนตาล สัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียน และเรือขุดโบราณ
          พระธรรมเทโว เป็นพระพุทธรูปหล่อสัมริด ขนาดหน้าตักกว้าง 42 เซนติเมตร สูง 76 เซนติเมตร ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย ศิลปะแบบลาว จารึกเป็นภาษาพื้นเมืองที่ส่วนฐานรวท 3 บรรทัด เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามและศักดิ์สิทธิ์มาก
               พระธาตุสวนตาล เป็นพระธาตุเจดีย์ใหญ่ ลักษณะคล้ายคลึงกับพระธาตุพนม ฐานกว้าง 30 ฟุต สูง 60 ฟุต คาดว่าก่อสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ประมาณ พ.ศ. 2250-2300 พระธาตุสวนตาลได้พังทลายลงเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2518 เวลา 19.30 น. ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 (วันอาสาฬหบูชา) ก่อนพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนมจะพังทลายในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 17.00 น. ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เพียง 18 วัน
               ปัจจุบันได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ครอบองค์เดิมไว้ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าและอัครสาวกในมหาธาตุนี้ด้วย
               มาถึงพระธาตุองค์สุดท้ายที่เป็นที่รู้จักกันดีของชาวอุบลฯ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ วัดพระธาตุหนองบัวครับ การเดินทางเมื่อออกจากบ้านชีทวนแล้ว ใช้ถนนแจ้งสนิท ตรงกลับเข้าเมืองอุบลฯ จนถึงวงเวียนหอนาฬิกา เลียบซิดตาม ม.ราชภัฏอุบลฯ ไปถนนชยางกูร เลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางอำนาจ ผ่านห้างโลตัส ตรงไปจนถึงร้านเฟอน์นิเจอร์ index จะเป็นสามแยก เรียกว่าสามแยกหนองบัว เลี้ยวซ้ายตรงไปตามทางประมาณ 500 เมตร วัดพระธาตุหนองบัวอยู่ทางขวามือครับ
               วัดพระธาตุหนองบัว เริ่มต้นจากกลุ่มพุทธศาสนิกชน ผู้ยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่ง มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ในการสร้างวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระมงคลกึ่งพุทธกาล พุทธศตวรรษ 2500


               พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นั้น ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธ  คยา ประเทศอินเดีย เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว ซึ่งทั้ง 4 มุม ของกำแพงแก้ว ได้ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน พระธาตุองค์เดิมมีขนาดกว้างด้านละ 5 เมตร สูงประมาณ 17 เมตร เมื่อสร้างใหม่ครอบองค์เดิม คือพระบรมธาตุที่เห็นในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่มาก ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในปี 2512

               เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 ทางทายกทายิกา ได้ไปกราบอาราธนาขอพระครูกิติวัณโณบล ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว จึงมาดำริจัดสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น จึงได้ปรึกษาหารือกับคณะสงฆ์และทายกทายิกา พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการ มีความเห็นพร้อมกันทุกฝ่าย ให้จัดทำฉัตรทองคำได้ จึงดำเนินการหล่อฉัตร 5 ชั้นขึ้น ลงรักปิดทอง ส่วนสนยอดฉัตรที่เป็นรูปดอกบัวตูมนั้น เป็นเนื้อทองคำแท้หนัก 31 บาท ตาม พ.ศ.ที่จะยก และเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนม์มายุครบ 5 รอบ ทั้งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครองราชสมบัติยาวนานกว่าในจักรีวงศ์ ซึ่งเป็นวันชัยมงคลาภิเษกด้วย
          เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวอุบลราชธานี และสาธุชนทั่วไป จึงได้ดำเนินการจัดการงานนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น พร้อมกับยกฉัตรทองคำ ในวันที่ 5 มีนาคม 2531 โดยมีประธานฝ่ายสงฆ์คือ พระเดชพระคุณเจ้าคุณพระพรหมมณี พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี ประธานฝ่ายฆราวาส มี ฯพณฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ พร้อมด้วย ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุขุม เลาวัณศิริ ผู้ว่าราชการังหวัดอุบลราชธานี เรือตรีดนัย เกตุศิริ และผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีมหาดไทย นายวีระวร สิทธธรรม พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน พร้อมกันทำพิธียกฉัตรทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น ในเวลา 09.59 น.