หน้าเว็บ

นมัสการพระแก้ว 5 องค์ เสริมสิริมงคลชีวิต

  เชิญชวนทุกท่านไปกราบนมัสการพระแก้วสำคัญของเมืองอุบลฯ ครับ แรกเริ่ม  พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม เท่านั้น ต่อมาก็ทราบว่ามีพระแก้วขาวเพชน้ำค้าง ที่วัดหลวง พระแก้วไพฑูรย์ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม และสุดท้ายที่ทราบข่าวคือ พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ ครับ

   พระแก้วแต่ละองค์ ที่ผมมีโอกาสได้กราบไหว้ และถ่ายภาพเก็บไว้ ไม่ได้อัญเชิญออกมาให้กราบไหว้ได้ง่ายๆ ครับ ต้องรอเวลาแต่ละโอกาสในแต่ละปีที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่วัดที่เก็บพระแก้วไว้ จะอัญเชิญพระแก้วออกมาให้กราบไหว้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี
   หากท่านมีโอกาสได้มาเที่ยวจังหวัดอุบลราชธนี ขอเชิญท่านไปนมัสการพระแก้วสำคัญของเมืองอุบลฯ เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต อาจไม่สามารถกราบไหว้ได้ครบในครั้งเดียว แต่หากมีโอกาสมาอุบลเมื่อใด หาโอกาสไปไหว้พระแก้วตามเทศกาล ผมเชื่อว่า จะครบแน่นอนครับ
   พระแก้วสำคัญทั้ง 4 องค์ ตามตำนานสันนิฐานว่า มีมาก่อนก่อตั้งเมืองอุบลฯ แล้ว ทราบว่า ในอุบลฯ มีพระแก้ว รุ่นราวคราวเดียวกันนี้ถึง 9 องค์ ตามสีอัญมณีรัตนชาติ ตอนนี้พบแล้ว 5 องค์ ครับ หวังว่า ในช่วงชีวิตนี้ คงจะมีโอกาสกราบพระแก้วครบ 9 องค์ สมดังจิตอธิษฐาน _/l\_

   พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธปฏิมากร ปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุษราคัมตามตำนานเล่ากันว่า พระวรราชภักดี (พระวอ) พร้อมด้วยบุตรหลานของพระตา คือเจ้าคำผง เจ้าทิดพรหมและเจ้าก่ำ บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ได้เชิญพระแก้วบุษราคัมมาจากกรุงศรีสัตนาคณหุต (เวียงจันทน์)
   เดิมทีพระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง และได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่วัดศรีอุบลรัตนาราม พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมเป็นองค์ประธานในพิธีอันสำคัญยิ่งทางราชการโดยถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสืบกันมาแต่โบราณกาล

   พระแก้วไพฑูรย์ แห่งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชนี้ เป็นพระแก้วเกิดจากหินธรรมชาติ มีอายุหลายล้านปีมาแล้ว ใครจะเป็นผู้แกะหินเป็นพระพุทธรูปนั้นไม่ทราบ แต่เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานาน บรรพบุรุษของพระปทุมวราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม เมื่อเจ้านายทางกรุงเทพมหานครมาปกครองเมืองอุบล ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีเกรงว่า เจ้านายทางกรุงเทพจะบังคับเอาพระแก้วทั้งสององค์ไปเป็นสมบัติของส่วนตัว จึงได้พากันเอาพระแก้วทั้งสององค์แบกออกจากกันไปซ่อนไว้โดยมิดชิด ไม่ยอมแพร่งพรายให้คนทั่วไปรู้
   ภายหลังทายาทเจ้าเมืองอุบลราชธานีเห็นว่าวัดหลวงไม่มีพระสำคัญจึงได้นำมาถวายให้เป็นสมบัติของวัดหลวง และเป็นของคู่บ้านคู่เมืองสืบไป พระแก้วไพฑูรย์ จึงได้กลับมาประดิษฐานวัดหลวงตามเดิมดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้
   พระแก้วไพฑูรย์เป็นหนึ่งในแก้วอันเป็นรัตนชาติ คือ เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาลมุดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์
   หากจะยกองค์พระขึ้นส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดลงมาจากฟ้าอันเป็นนิมิตหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล 
   พุทธศานิกชนสามารถกราบนมัสการ และสรงน้ำพระแก้วไพฑูรย์ได้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ครับ

   พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง องค์นี้เป็นพระปางสมาธิสูง 17 ซ.ม. ทำด้วยแก้วผลึกสีขาว เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ซึ่งควบคุมการก่อสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฎนารามแต่ พ.ศ. 2460-2473 ได้รวบรวมพระพุทธธูปเก่าแก่ไนปางต่างๆ จากหลายที่หลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหินสมัยลพบุรี 3 องค์ และสิ่งอื่นจำนวนมาก โดยเฉพาะพระแก้วขาวองค์นี้เป็นพระประจำองค์ท่าน ท่านได้อย่างไรไม่ปรากฏชัด ในช่วงปี พ.ศ. 2485 เจ้าพระคุณคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฎนาราม ได้มอบพระแก้วขาวองค์ศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของวัดสุปัฎนาราม
   “ พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง ” เนื้อองค์เป็นแก้วผลึกสีขาวใส ซึ่งความใสขององค์พระ ประดุจน้ำค้างยามเช้าเปล่งแสงแวววาวในตัวเองดุจประกายเพชร จึงได้ชื่อว่า “ พระแก้วเพชรน้ำค้าง ” ฉลององค์ด้วยทองคำเป็นบางส่วน เพื่อความสวยงามและทรงคุณค่า
   คาดว่า “ พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง ” น่าจะเป็นรุ่นเดียวกับ “ พระแก้วบุษราคัม ” โดยยึดหลักจากตำนานการมาตั้งถิ่นฐานของเมืองอุบลฯ เมื่อ 200 ปี เศษมาแล้ว บรรพบุรุษผู้มาสร้างเมืองได้อันเชิญมาเพื่อเป็นสิริมงคลในการเดินทางอันยาวไกล และเป็นขวัญกำลังใจในการสู้รบกับศัตรูผู้รุกรานจนสร้างบ้านเมืองได้เป็นหลักแหล่งเท่าทุกวันนี้
   คณะกรรมการวัดสุปัฏนารามฯ กำหนดอัญเชิญพระแก้วขาววัดสุปัฎนารามลงให้สาธุชนสรงน้ำขอพรปีใหม่สากล 31 ธันวาคม ถึง 2 มกราคม ของทุกๆ ปี


   พระแก้วโกเมน อุบัติขึ้นพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ซึ่งประดิษฐานอยู่วัดศรีอุบลรัตนรามปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูลแก้วเก้าประการ คือ เพชร มณี มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดา เพทาย และไพฑูรย์
   เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายก-ทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนไปรักษาไว้อย่างดีที่วัดบ้านกุดละงุม อำเภอวารินชำราบปัจจุบัน และคณะผู้รักษาพระแก้วโกเมน ได้นำท่อนไม้จันทร์มาทำเป็นผอบใหญ่ คว่ำองค์พระพุทธรูปไว้ ด้วยเกรงว่าข้าศึกจะแย่งชิงไป ครั้งเมื่อศึกสงบลงจึงได้นำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับสืบต่อกันมา
   ครั้งเมื่อสิ้นสมัยหลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) คณะกรรมการวัดจึงขออนุญาตนำพระแก้วโกเมนลงมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา และสรงน้ำในเทศกาลวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 
   ปัจจุบัน (พ.ศ.2553) วัดมณีวนาราม หรือ วัดป่าน้อย กำลังดำเนิการก่อสร้างหอพระแก้วโกเมน เพื่อให้พุทธศานิกชน สามารถกราบไหว้พระแก้วโกเมนได้ตลอดทั้งปี